นกอีโก้ง

นกอีโก้ง

นกอีโก้ง

นกอีโก้ง (Purple Swamphen)

นกอีโก้ง: Purple Swamphen (Purple Gallinue)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Porphyrio porphyrio (Linnaeus, 1768)
วงศ์ (Family): Rallidae (วงศ์นกอัญชัน)
อันดับ (Order): Gruiformes (อันดับนกกระเรียนและนกอัญชัน)

ลักษณะทั่วไป

เป็นนกน้ำในวงศ์นกอัญชัน รูปร่างของนกชนิดนี้จึงคล้ายกับนกอื่น ๆ ในวงศ์นี้ เช่น นกพริก นกกวัก (White Breasted Waterhen) นกอัญชันต่าง ๆ แต่มีตัวใหญ่มากคือมีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 43-44 เซ็นติเมตร รูปร่างดูเผิน ๆ คล้ายแม่ไก่ตัวโต ๆ ล่ำสัน แต่ดูเก้งก้าง เพราะขายาว คอค่อนข้างยาว ปากอวบ สั้นและหนา ตรงโคนปากมีกระบังหน้า (frontal shield) สีแดงดูเด่นชัด ปีกสั้น มีขนปลายปีก (primaries) 10 เส้น ขนหางสั้นมากจนดูเกือบไม่มีหาง ขาและนิ้วเท้ายาวนิ้วเท้าหลังยาวกว่านิ้วเท้าหน้าเล็กน้อย ลักษณะนิ้วที่ยาว มีประโยชน์ในการเหยียบย่ำไปบนกอวัชพืชในน้ำ

นกน้ำวงศ์นี้มีขาและนิ้วยาว สามารถเดินหากินบนกอไม้น้ำได้ดี พบได้ง่ายในบริเวณรอบ ๆ ที่ทำการเขตห้ามล่า สัตว์ป่าทะเลน้อย ส่วนใหญ่เป็นนกประจำถิ่น เช่น นกอัญชันคิ้วขาว (White – Browed Crake) นกกวัก (White Breasted Waterhen) นกอีลุ้ม (Waterhen) นกอีล้ำ (Moohen) เป็นต้น

หัวมีสีเหลือบออกฟ้าน้ำเงินบ้างเล็กน้อย ใต้คอหน้าอกเป็นสีน้ำเงินปนม่วง ลำตัวด้านบนสีน้ำเงินอมม่วง ใต้คางและอกสีน้ำเงินอมเขียว ท้องและสีข้างสีน้ำเงินอมม่วง ต้นขาสีน้ำเงินอมเขียว หัว ไหล่ และขนปีกสีน้ำเงิน อมเขียว ตา ปาก กระบังหน้าและเท้าสีแดง ซึ่งความสดใสเข้มอ่อนของสีขนจะแตกต่างกันไปตามแต่นกแต่ละตัว อีโก้งเพศผู้และเพศเมียมีลักษณะเหมือนกัน ตัวผู้จะมีกระบังหน้าโตกว่าตัวเมีย เวลาเดินชอบกระดกหาง นกไม่เต็มวัยอาจมีสีทึมกว่าตัวเต็มวัยและปากสีไม่แดง นกเด็กมีขนอุยสีดำปกคลุมลำตัว ขาและนิ้วเท้า เพื่อความถนัดในการเดินบนพืชน้ำเช่นเดียวกับนกผู้ใหญ่

ถิ่นที่อยู่ในไทย

นกอีโก้ง เป็นนกประจำถิ่นของประเทศไทย พบมากในที่ราบลุ่มภาคกลาง มักอาศัยตามแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ เช่น บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ และพบกระจายทั่วประเทศตามแหล่งน้ำจืดต่าง ๆ แต่อาจพบน้อยตัวกว่า ตามแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จะเดินหากินไปบนพืชลอยน้ำ ยกขาที่มีนิ้วเท้ายาวก้าวไปอย่างช้า ๆ กระดกหางขึ้น ๆ ลง ๆ โดยในการเดินบนวัชพืชลอยน้ำ นกอีโก้งมักต้องขยับปีกเพื่อช่วยในการทรงตัวด้วย หากอยู่ในอันตราย หรือตกใจอาจวิ่งหนี หรือบินหนีเป็นระยะทางสั้น ๆ และหาที่หลบกำบังตัว

อาหาร

รากบัวหลวง รากจอกหูหนู สายบัว ต้นแพงพวยน้ำ ไส้ในหรือต้นอ่อนของกก จูด และข้าวเป็นอาหารของนกอีโก้ง ในการกินสายบัว นกจะถอนเอาสายบัวออกมาโดยการใช้ปากกระตุกออกมา ใช้เท้าจับสายบัวและใช้ปากปอกสายบัว กินแต่ไส้ในทีละท่อน ๆ จนหมดสาย นอกจากพืชแล้ว นกอีโก้งยังกินแมลงเล็ก ๆ ในน้ำ กบ เขียด อึ่งอ่าง หอยโข่ง หอยเชอรี่ หรือแม้แต่ไข่ของนกอื่น ๆ

ในการกินหอย นกจะใช้ปากหักเปลือกหอยจนแตกแล้วดึงเนื้อมากินทีละชิ้นจนหมด นกอีโก้งเป็นนกที่เดินหากินได้ทั้งวันไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและจะไต่ขึ้นไปพักผ่อนหลับนอนบนต้นไม้ที่สูงเล็กน้อยในตอนพลบค่ำ

พฤติกรรม การสืบพันธุ์

ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ ใช้เวลาส่วนใหญ่หลบซ่อนตัวอยู่ตามดงกกหรือกอหญ้า นกอีโก้งออกหากินโดยเดินตามริมน้ำ เดินช้า ๆ เวลาเดินเมื่อยกเท้านิ้วทั้งหมดจะงอเข้าหากัน และเมื่อก้าวขาลง นิ้วเท้าจะแผ่กระจายออกจากกัน หางที่สั้นของมัน จะกระดกทุกครั้งที่ก้าวขา ถ้าถูกรบกวนจะวิ่งหนีไปบนพื้นน้ำ โดยขยับปีกช่วยกัน ทำให้ขาของมันไม่จมน้ำ จะบินหนีก็ต่อเมื่อ อยู่ในอันตรายจริง ๆ เท่านั้น เป็นนกที่บินไม่เก่ง เมื่อบินไปพบกอหญ้าที่รกทึบ จะบินลงไปซ่อนตัวอยู่เงียบ ๆ ในนั้น จนอันตรายผ่านไป แต่เป็นนกว่ายน้ำได้เร็วและเก่งมาก

นกอีโก้งทำรังวางไข่ได้เกือบตลอดทั้งปีเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม โดยทั่วไปจะทำรังในช่วงปลายฤดูฝนเป็นต้นไป เมื่อเข้าช่วงฤดูผสมพันธุ์ นกจะส่งเสียงดังร้องเรียกกัน จับคู่และสร้างรังโดยการดึงพืชน้ำลงมาขัดสานกันจนเป็นรังหนา เส้นผ่านศูนย์กลางราว 30 เซนติเมตร สูงจากระดับน้ำตั้งแต่ 30-50 เซนติเมตร และใช้พืชน้ำอื่น ๆ กรุรังให้อ่อนนุ่ม

แต่บางรังก็สร้างไว้บนกอผักตบชวา นกจะวางไข่ครั้งละ 3-5 ฟอง นกทั้งสองเพศช่วยกันกกไข่หลังจากวางไข่ฟอง สุดท้ายแล้ว ใช้เวลาราว 22-25 วันก็ฟักเป็นตัว ลูกนกจะอยู่ในรังต่ออีกไม่กี่วัน พ่อแม่ก็พาออกไปเลี้ยงนอกรัง โดยพ่อแม่หาอาหารมาป้อนเมื่อลูกโตพอสมควร พ่อนกก็จะแยกไปให้แม่นกเลี้ยงต่อไปตามลำพัง เมื่อลูกนกอายุ 4 เดือน ก็จะมีชุดขนคล้ายผู้ใหญ่ ปากค่อย ๆ แดงจนเป็นตัวเต็มวัยในที่สุด

ถิ่นอาศัยในต่างประเทศ

พบตั้งแต่ในยุโรป แอฟริกา อินเดีย จีน ลังกา พม่า พบได้ทั่วประเทศไทย มีชุกชุมในภาคกลาง ลาว เวียตนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไปจนถึงออสเตรเลีย โดยในบางที่อาจเป็นชนิดย่อยอื่น และมีชื่อเรียกอื่น

สถานภาพปัจจุบัน

นกอีโก้งเป็นนกประจำถิ่น พบได้บ่อย และปริมาณปานกลาง จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

 

# นกอีโก้ง
# นกอีโก้ง ราคา
# นกอีโก้ง กินอะไร
# นกอีโก้งตัวเมีย
# นกอีโก้งกินได้ไหม
# นกอีโก้ง ข้อมูล
# นกอีโก้ง ลักษณะ